"พริก" จัดเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และมีปริมาณการบริโภคสูง ทั้งในทางการค้าปลีกในประเทศ ในเชิงอุตสาหกรรม และการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซีย ซึ่งนับเป็นตลาดส่งออกพริกสำคัญของไทย (ข้อมูลกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ)
ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกพริกทั้งหมด 167,443 ไร่ มีผลผลิตทั้งสิ้น 283,515 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี หนึ่งในพริกที่ได้รับความนิยมคือ “พริกผลใหญ่” อย่าง “พริกหนุ่มเขียว” ปลูกกันมากในแถบภาคเหนืออย่างเชียงใหม่, น่าน และแพร่ (ข้อมูลการเพาะปลูกประจำปี 2562 จากกรมส่งเสริมการเกษตร)
สำหรับจังหวัดแพร่นั้นมีแหล่งปลูกพริกใหญ่ที่สุดอยู่ใน “อ.หนองม่วงไข่” มีพื้นที่ปลูกกว่า 1,800 ไร่ โดยเกษตรกรที่นี่นิยมปลูกพริกกันมามากกว่า 30 ปีแล้ว จนปัจจุบันได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐเข้าสู่โครงการเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อเพิ่มศักยภาพและมาตรฐานการผลิตสู่ระบบเกษตรปลอดภัย (Good Agriculture Practices: GAP) ลดการใช้สารเคมี ด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ และการจัดการแปลงอย่างเป็นระบบ
หนึ่งในกำลังสำคัญของโครงการพริกแปลงใหญ่ อ.หนองม่วงไข่ ที่เราอยากพาไปรู้จักนั้นก็คือ คุณปรียา อุดขันจริง วัย 52 ปี แห่ง ต.แม่คำมี อ.หนองม่วงไข่ จ.แพร่ เกษตรกรหญิงคนเก่ง ที่มีจุดเริ่มต้นเป็นแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวมาก่อน ด้วยปัญหาสุขภาพจึงต้องเปลี่ยนอาชีพสู่เกษตรกร แต่ด้วยความตั้งใจเรียนรู้ เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ ทำให้คุณปรียา สามารถปลูกพริกหนุ่มเขียวให้สมบูรณ์ ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยมีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 8 ตัน/ไร่ เลยทีเดียว ไปดูกันว่าเธอมีเคล็ดลับการบำรุงยังไงบ้าง?
คุณปรียา เล่าย้อนให้ฟังว่า ด้วยความที่ตนเองมีพื้นที่จำกัดเพียง 1 ไร่ 2 งาน การเลือกสายพันธุ์พริกที่จะปลูกจึงเป็นสิ่งที่เธอให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ต้องพิจารณาทั้งเรื่องความทนต่อสภาพอากาศ ปริมาณผลผลิตต้องสูง และเป็นที่ต้องการของตลาด จากนั้นจึงค่อยๆ หาความรู้จากเกษตรกรที่มีประสบการณ์ เธอจึงพบว่าในพื้นที่บางส่วนมีการปลูกพริกพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งแม้ว่าพริกพื้นเมืองนั้นจะมีความทนโรคได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ว่าให้ผลผลิตที่ต่ำ สามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 2-3 มีด จึงไม่ตอบโจทย์ด้านปริมาณผลผลิตของเธอ
คุณปรียา จึงตัดสินใจทดลองปลูกพริกพันธุ์ลูกผสมคือ “พริกหนุ่มเขียวหยกสยาม” เพราะศึกษามาว่า เป็นพริกที่ให้ผลผลิตดก ทนโรค รูปทรงผลตรง สีมันวาว เนื้อหนา และทนต่อการขนส่ง ซึ่งเมื่อปลูกแล้วก็พบว่าให้ผลผลิตดีจริง จนปัจจุบันปลูกต่อเนื่องมามากกว่า 5 ปีแล้ว
“จุดเด่นของพริกหนุ่มเขียวพันธุ์หยกสยามคือ เมล็ดพันธุ์ได้มาตรฐาน อัตรางอกสูงมาก สำหรับพี่คืองอกถึง 99% ทำให้เราประหยัดต้นทุนด้านเมล็ดพันธุ์ ส่วนในแง่ของผลผลิตนั้นก็ดกมาก เรียกได้ว่ายิ่งเก็บก็ยิ่งดก แล้วเราสามารถเก็บเกี่ยวได้หลายระยะตั้งแต่พริกเขียว จนพริกแดง ผลผลิตได้คุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด ผลตรง เนื้อหนา แน่นตึง ทนทานต่อการขนส่ง” คุณปรียา เล่าประสบการณ์ให้ฟัง
สำหรับเรื่องการเตรียมแปลง คุณปรียา เน้นว่าตนเองนั้นเป็นคนที่เตรียมดินด้วยความประณีตมาก ใช้เวลานานถึง 3 เดือน ไถดินอย่างน้อย 3 รอบ เพราะว่าการเตรียมดินที่เหมาะสมนั้น นอกจากจะช่วยให้ต้นพริกเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์แล้ว ยังเป็นการลดปัญหาโรคพืชได้ด้วย
ขั้นตอนที่ 1 เริ่มจากการหว่าน “เมล็ดปอเทือง” ทิ้งไว้ 38-40 วัน รอจนปอเทืองต้นประมาณ 1-2 ฟุต และเริ่มออกดอก
ขั้นตอนที่ 2 หว่าน “โดโลไมต์” ลงในแปลงปอเทือง จากนั้นจึงไถกลบรอบแรก และพักดินไว้ 1 เดือน โดโลไมต์นั้นมีคุณสมบัติป้องกันเชื้อราและช่วยเพิ่มแคลเซียมในดิน ส่วนปอเทืองจะกลายเป็นปุ๋ยพืชสดที่มีไนโตรเจนสูง ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ของดินได้เป็นอย่างดี
ขั้นตอนที่ 3 หว่าน “ปุ๋ยคอก” ลงในแปลง จากนั้นไถพรวน และพักดินทิ้งไว้อีก 1 เดือน โดยปุ๋ยคอกนั้นเป็นอินทรียวัตถุช่วยปรับโครงสร้างดินให้ร่วนซุย
ขั้นตอนที่ 4 เติมธาตุอาหารในดินด้วย “ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 15-15-15” อัตรา 100 กก./ไร่ จากนั้นไถพรวนรอบสุดท้าย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับกล้าพริกให้เจริญเติบโตได้ดีในระยะแรก
ขั้นตอนที่ 5 พ่นสารชีวภัณฑ์ “ไตรโคเดอร์มา” ป้องกันเชื้อราที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรครากเน่า-โคนเน่าในพริก
เมื่อเตรียมดินเสร็จทั้ง 5 ขั้นตอนแล้ว คุณปรียาจะเริ่มปูพลาสติกคลุมดินด้วยระยะห่างระหว่างต้น 50X50 ซม. เนื่องจากหากชิดกว่านี้จะทำให้กิ่งพริกชนกันมากเกินไป หรือหากใช้ระยะห่างกว่านี้ จะทำให้ต้นพริกถูกลมพัดล้มได้ หลังจากปูพลาสติกคลุมแปลงเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถลงกล้าพริกได้ โดยกล้าพริกนั้นจะใช้เวลาเพาะประมาณ 25-30 วัน
ทั้งนี้ ที่แปลงพริกของคุณปรียา จะไม่ได้ใช้วิธี “ยกร่อง” เหมือนแปลงพริกบางพื้นที่ เนื่องจากลักษณะดินเป็นดินทรายที่สามารถระบายน้ำได้ดีอยู่แล้ว หากยกร่องไปสักระยะ ดินก็จะค่อยๆ คืนตัวมาอยู่ระนาบเดียวกันในที่สุด เกษตรกรปลูกพริกจึงควรศึกษาลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ตนให้ดี เพื่อที่จะวางแผนการปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“พริกนั้นเป็นพืชที่ไม่ชอบดินแฉะ แต่ขาดน้ำไม่ได้” ระบบน้ำจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หลายคนคงเคยได้ยินการปลูกพืชใน “ระบบน้ำหยด” ที่ใช้ท่อพีอี (PE) วางใต้พลาสติกคลุมดิน โดยมีหัวจ่ายน้ำอยู่บริเวณต้นพืช คุณปรียา เคยปลูกพริกในระบบน้ำหยดเช่นกัน แต่ด้วยความที่ดินในพื้นที่เป็นดินทราย ทำให้เศษดินอุดตันในท่อพีอี (PE) ได้ง่าย พริกบางต้นจึงขาดน้ำ โดยที่ตรวจสอบลำบาก เพราะว่าท่อนั้นวางอยู่ใต้พลาสติกคลุมดิน เธอจึงเปลี่ยนมาใช้ “ระบบน้ำพุ่ง” แทน
ระบบน้ำพุ่งนั้นคือการใช้ “สายเทปน้ำ” วางพาดบนพลาสติกคลุมแปลง ในตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างแนวต้นพริก 2 แถว วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้สายเทปน้ำไม่อุดตันแล้ว ยังช่วยประหยัดต้นทุนได้อีกด้วย เพราะรัศมีของสายเทปน้ำจะพุ่งกระจายออกไปยังต้นพริกทั้งสองแถว ทำให้ใช้สายเทปน้ำเพียงเส้นเดียวต่อการปลูกพริก 2 แถว
นอกจากการบำรุงพริกด้วยธาตุอาหารที่เหมาะสม “ถูกสูตร ถูกช่วงเวลา” แล้ว เทคนิคสำคัญของคุณปรียา ที่ช่วยให้ต้นพริกสมบูรณ์ แตกข้อดี ให้ผลผลิตเร็ว อยู่ที่ “วิธีการ” ด้วยเช่นกัน
คุณปรียา เล่าให้ฟังว่า ปกติพริกหนุ่มเขียวนั้นจะเริ่มให้ผลผลิตหลังลงกล้าประมาณ 90-95 วัน แต่พริกที่แปลงของเธอนั้น สามารถให้ผลผลิตหลังปลูกประมาณ 65-70 วันเท่านั้น และสามารถเก็บผลผลิตเฉลี่ยได้ถึง 8 ตันต่อไร่ ปัจจัยสำคัญนั้นมาจากการดูแลต้นพริกไม่ให้โทรม ได้รับธาตุอาหารอย่างเหมาะสมทุกช่วงอายุ โดยที่แปลงนั้นจะแบ่งการบำรุงออกเป็น 2 ระบบ คือ “ระบบน้ำ” และ “ระบบฝังดิน”
การให้ปุ๋ย “ระบบน้ำ” หมายถึง การประยุกต์ละลายปุ๋ยเม็ดกับน้ำก่อนนำไปรดที่ต้นพริก ช่วยให้ “ช่วงพริกต้นเล็ก” ที่ยังมีปริมาณรากฝอยยังไม่มาก ได้รับธาตุอาหารง่ายขึ้น และช่วยให้ “ช่วงพริกโต” ในระยะเก็บเกี่ยว ได้รับธาตุอาหารทันทีหลังเก็บผลผลิต
ส่วนการให้ปุ๋ย “ระบบฝัง” หมายถึง การฝังปุ๋ยไว้ในดินคล้ายกับเป็น “คลังอาหารสำรอง” เพื่อให้ต้นพริกค่อยๆ ได้รับธาตุอาหารอย่างสม่ำเสมอไม่ขาดช่วง โดยหลุมที่ใช้ฝังปุ๋ยนั้นจะอยู่กึ่งกลางระหว่างต้นพริก 4 ต้น ตามแนวสายเทปน้ำพอดี ทุกครั้งที่รดน้ำต้นพริก เม็ดปุ๋ยก็จะค่อยๆ ละลาย ซึมไปเข้าสู่รากฝอยของพริก
โดยเทคนิคการ “ฝังปุ๋ย” นี้ เป็นวิธีที่คุณปรียา คิดค้นร่วมกับนักวิชาการเจียไต๋ในพื้นที่ ภายใต้โจทย์ที่ว่า “ทำอย่างไรให้พริกได้รับธาตุอาหารเพียงพอ และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง”
ทั้งนี้ จากการทดลองให้ปุ๋ยต้นพริกควบคู่กันทั้ง 2 ระบบ คุณปรียา พบว่า “การฝังปุ๋ย” นั้นเป็นวิธีการใช้ปุ๋ยที่คุ้มค่าและได้ผลลัพธ์ตรงจุดมาก เมื่อผสาน “การฝังปุ๋ย” เข้ากับ “การให้ปุ๋ยระบบน้ำ” เหมือนเป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกัน เพราะการให้ปุ๋ยพริกนั้นไม่ได้เน้นที่ปริมาณ แต่หัวใจสำคัญคือ “ความสม่ำเสมอ” ที่ช่วยให้ต้นพริกยืนระยะการให้ผลผลิตกับเรานานที่สุด
สำหรับช่วงเวลาในการบำรุงต้นพริก คุณปรียา จะแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ตามการเจริญเติบโต ดังนี้
“ระบบน้ำ” ใช้ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 16-16-16 บลู อัตรา 3 กก. ละลายกับน้ำปริมาณ 200 ลิตร/ไร่ จากนั้นนำไปรดต้นพริกทันที ด้วยความถี่ทุก 5 วัน/ครั้ง ช่วยเร่งให้ต้นพริกสมบูรณ์ทั้งลำต้นและใบ สังเกตได้ชัดคือใบพริกจะใหญ่ สีเขียว สมบูรณ์
“ระบบฝัง” ใช้ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 15-15-15 อัตรา 3 กก./ไร่ โดยแบ่งใส่หลุมๆ ละประมาณ 1 ช้อนชา โดยการฝังปุ๋ยในระยะนี้จะฝังด้วยความถี่ทุก 7 วัน/ครั้ง ช่วยเสริมการเจริญเติบโตของต้นพริก
“ระบบน้ำ” ใช้ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 16-16-16 บลู อัตรา 1 กก. ผสมกับปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 13-13-24 อัตรา 2 กก. แล้วนำไปละลายกับน้ำปริมาณ 200 ลิตร/ไร่ จากนั้นนำไปรดต้นพริกทันที ด้วยความถี่ทุก 5 วัน/ครั้ง
“ระบบฝัง” ใช้ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 15-15-15 อัตรา 1 กก. ผสมกับปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 13-13-24 อัตรา 2 กก. คลุกเค้าให้เข้ากัน และแบ่งใส่หลุมๆ ละประมาณ 1 ช้อนชา โดยการฝังปุ๋ยในระยะนี้จะฝังด้วยความถี่ทุก 7 วัน/ครั้ง
“ระบบน้ำ” ใช้ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 16-16-16 บลู อัตรา 1.5 กก. ผสมกับ ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 13-13-24 อัตรา 1.5 กก. ต่อน้ำ 200 ลิตร/ไร่ โดยจะรดหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตทันที
“ระบบฝัง” ใช้ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 15-15-15 อัตรา 1.5 กก. ผสมกับปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 13-13-24 อัตรา 1.5 กก. คลุกเค้าให้เข้ากัน และแบ่งใส่หลุมๆ ละประมาณ 1 ช้อนชา โดยจะเริ่มฝังปุ๋ยในวันถัดไป เช่น วันนี้ทำการให้ปุ๋ย “ระบบน้ำ” วันรุ่งขึ้นค่อยทำการให้ปุ๋ยใน “ระบบฝัง” จากนั้นในทุกๆ ครั้งที่เก็บผลผลิต ก็จะฝังปุ๋ยในวันถัดไป เช่นนี้เรื่อยไปจนกว่าจะหยุดเก็บผลผลิต
คุณปรียา เผยเคล็ดลับว่า “แคลเซียม-โบรอน” ที่มีในปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 16-16-16 บลู นั้นเป็นธาตุอาหารที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในช่วงพริกติดผล เพราะช่วยให้พริกมีสีเขียวสวย เนื้อหนาอย่างชัดเจน ช่วยลดต้นทุนในการฉีดพ่นแคลเซียมทางใบเพิ่ม นอกจากนี้ ยังช่วยให้ต้นพริกฟื้นตัวไว และยังคงรักษาระดับปริมาณผลผลิตให้ไม่ลดลงอีกด้วย
ทั้งนี้ คุณปรียา เน้นว่า หากเกษตรท่านใดต้องการประยุกต์ใช้ปุ๋ยเม็ดละลายน้ำเพื่อรดพืชผัก จำเป็นต้องเลือกปุ๋ยที่มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี เพื่อให้พืชได้รับธาตุอาหารอย่างครบถ้วน เพราะหากปุ๋ยละลายน้ำไม่ดี นอกจากจะเสียเวลาแล้วยังสิ้นเปลืองธาตุอาหารไปกับกากปุ๋ยที่ละลายไม่หมดด้วย
ภัยคุกคามสำคัญของพริกนั้นมีทั้งโรคพืชและแมลง โรคพืชอันดับหนึ่งนั้นคือ “กุ้งแห้ง” หรือแอนแทรคโนส ที่เกิดจากเชื้อรา ลักษณะอาการคือผลพริกจะยุบเป็นรอยบุ๋ม ฉ่ำน้ำ เมื่อแผลขยายขนาด ส่วนกลางแผลจะมีเมือกสีดำ
ส่วนแมลงศัตรูพริกตัวหลักนั้นได้แก่ “เพลี้ยไฟ-ไรขาว” ลักษณะการเข้าทำลายจะคล้ายกันคือ ยอดอ่อน-ใบอ่อนจะหงิก ต้นชะงักการเจริญเติบโต
หากพบต้นพริกที่เป็น “โรคกุ้งแห้ง” เกษตรกรต้องรีบถอนแล้วนำไปทิ้งนอกแปลงทันที แต่หากต้นไหนอาการยังอยู่ในระยะเริ่มต้น คุณปรียา จะเร่งเสริมความแข็งแรงให้ต้นพริกด้วยปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 16-16-16 บลู จะช่วยให้พริกฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ ด้วยความที่คุณปรียา มีความมุ่งมั่นในการปลูกพริกให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภค จึงลดใช้สารเคมี หันมาใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนตามข้อกำหนดของกรมวิชาการเกษตร ทำให้พริกที่แปลงนั้นผ่านการรับรองมาตรฐาน “เกษตรปลอดภัย” (GAP) ดังนั้น การรับมือกับโรค-ศัตรูพืชจึงอยู่ในลักษณะ “ป้องกัน” เป็นส่วนใหญ่
โดยนอกจากการป้องกันด้วย “การเตรียมแปลง” ดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น อีกปัจจัยสำคัญคือ “การจัดการแปลงให้โปร่ง” ช่วยลดการสะสมโรค ทำได้โดยการริดแขนงพริกที่ขึ้นใต้กิ่งแรกออกทั้งหมด พยายามให้อากาศในแปลงถ่ายเทได้มากที่สุด
และปัจจัยสุดท้ายที่มองข้ามไม่ได้คือ “ความแข็งแรงของต้นและผลพริก” โดยคุณปรียา อธิบายเพิ่มเติมว่า “การบำรุงพริกให้สมบูรณ์ ไม่ได้ช่วยแค่ในแง่คุณภาพและปริมาณของผลผลิตเท่านั้น แต่ยังช่วยให้พริกต้านทานโรคได้ดีขึ้นกว่า 50% เกษตรกรบางรายจะให้ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารหลักอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีการให้ธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริม อย่างแคลเซียม-โบรอน
จุดนี้อันตรายมาก เพราะพริกที่ขาดแคลเซียม-โบรอน จะทำให้ผิวบาง เนื้อเยื่อมีรอยแตก เป็นสาเหตุให้เชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่าย และหากควบคุมได้ไม่ดีก็อาจลามไปทั้งแปลงได้” คุณปรียาเผยถึงเคล็ดลับการทำเกษตรปลอดภัยให้ฟัง
การเก็บผลผลิต “พริกหนุ่มเขียวหยกสยาม” จะแบ่งเป็น 3 ระยะคือ พริกเขียว, พริกก้ามปู และพริกแดง ตามตลาดที่แตกต่างกัน โดยพริกทุกระยะนั้นจะมีคนมารับซื้อกันถึงแปลง
สำหรับระยะเวลาเก็บเกี่ยว ให้นับจากดอกพริกชุดแรกบานไปประมาณ 28 วัน จะสามารถเก็บพริกมีดแรกได้ และจะเก็บมีดถัดไปอีกทุกๆ 7 วัน ตามระยะของพริก ดังนี้
คุณปรียา เผยว่า ผลผลิตที่แปลงของตนเองนั้นจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 8 ตัน/ไร่ ในขณะที่แปลงคนอื่นจะอยู่ที่ประมาณ 6 ตัน/ไร่ เท่านั้น ผลลัพธ์นี้มาจากการดูแลอย่างประณีตทุกขั้นตอน คอยบำรุงพริกอย่างเหมาะสมทุกช่วงอายุ พร้อมปรับปรุง-ประยุกต์ใช้วิธีการใหม่ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
และที่สำคัญ เธอย้ำว่า “ต้องเป็นคนที่หมั่นเรียนรู้อยู่เสมอ เมื่อเรียนรู้แล้วต้องบอกต่อ เพราะความรู้จะเกิดขึ้นไม่สิ้นสุดถ้าเราแลกเปลี่ยนกัน”
ปัจจุบัน คุณปรียา เป็นหัวเรือสำคัญในการรับหน้าที่ “ถอดบทเรียน” การปลูกพริกแปลงใหญ่ใน อ.หนองม่วงไข่ จากคนที่ไม่เคยทำการเกษตรมาก่อน และมีพื้นที่เพียงไร่เศษๆ ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ ถือเป็นตัวอย่างของ “ความพยายาม” อย่างแท้จริง
ติดตามข่าวสารอื่นๆ ข้อมูลสินค้า และข่าวสารจากปุ๋ยตรากระต่าย เพิ่มเติมได้ที่
Facebook: www.facebook.com/puitrakratai/
YouTube: www.youtube.com/c/Puitrakratai
ข้อมูลสินค้าปุ๋ยตรากระต่าย : www.chiataigroup.com/business/fertilizer/puitrakratai