หนึ่งในปัญหาการปลูก “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ที่หลายคนคาดไม่ถึงคือเรื่องของ “วัชพืช” เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผลผลิตลดลงเกินครึ่ง แต่เกษตรกรบางส่วนกลับปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบปล่อยตามธรรมชาติ สุดท้ายมักเจอปัญหาผลผลิตต่ำและไม่สม่ำเสมอ
แล้วการจะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้มีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตสูงนั้นมีขั้นตอนอย่างไร? เราจะพาไปหาคำตอบกับเกษตรกรรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง คุณเสก-ศักดา สว่างศรี วัย 28 ปี ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า 120 ไร่ ด้วยความใส่ใจ บำรุงดูแล จนทำให้ได้ผลผลิตมากกว่า 1 ตันต่อไร่”
คุณเสก เผยว่า ตนเองนั้นรับช่วงต่อการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากรุ่นพ่อแม่มาได้ 7-8 ปีแล้ว ซึ่งก็ได้มีการปรับปรุงรูปแบบการทำเกษตรหลายอย่าง ทั้งการวางแผนปลูก
การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และข้อสำคัญคือต้องมีความเข้าใจในจุดเปราะบางของพืชที่เราปลูก ซึ่งถ้าป้องกัน-ดูแลได้อย่างตรงจุด รับรองว่าผลลัพธ์คุ้มค่าการลงทุนแน่นอน
เทคนิคการดูแลข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในแบบของคุณเสก นั้นไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด แค่ใส่ใจใน 3 เรื่องหลัก คือ
1. การวางแผนการปลูกให้เหมาะสม เพื่อให้ขายได้ราคา
2. การกำจัดวัชพืชในแปลง สาเหตุที่ทำให้ผลผลิตลดลงกว่าครึ่ง
3. เทคนิคการบำรุงให้ข้าวโพดฝักใหญ่
แปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของคุณเสก
วางแผนการปลูกเหมาะสม ขายได้ราคาปลูกได้ 2 รอบต่อปี
“ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่าทำนาถึง 2 เท่า หรือประมาณ 450-500 ลบ.ม./ไร่/ฤดูการผลิตเท่านั้น จึงนิยมปลูกในพื้นที่นอกเขตชลประทาน
ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะแบ่งการปลูกออกเป็น 2 ฤดู คือ
- ข้าวโพดฤดูฝน จะเริ่มปลูกประมาณช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน และเก็บเกี่ยวในเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน
- ข้าวโพดฤดูแล้ง จะเริ่มปลูกประมาณช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ และเก็บเกี่ยวในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม
คุณเสก เผยว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เลือกที่จะปลูก “ข้าวโพดฤดูฝน” เพียงรอบเดียว เนื่องจากการดูแลง่ายกว่า “ข้าวโพดฤดูแล้ง” คือ ไม่ต้องจัดการเรื่องน้ำ อาศัยเพียงน้ำฝนตามธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งเมื่อมีคนปลูกมาก ผลผลิตก็จะออกสู่ตลาดในช่วงเวลาเดียวกันมากตามไปด้วย ทำให้ราคาข้าวโพดในช่วงฤดูฝนต่ำกว่าฤดูแล้งอยู่พอสมควร
ด้วยเหตุผลนี้ คุณเสก จึงเลือกที่จะวางแผนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ได้ 2 รอบ/ปี คือ แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน ส่วนแรก จะแบ่งออกเป็นพื้นที่ประมาณ 30 ไร่
(จากทั้งหมด 120 ไร่) สำหรับปลูกข้าวโพดฤดูแล้ง โดยใช้ “ระบบน้ำหยด” เข้าช่วย เพื่อให้ได้ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงราคาที่ดีที่สุด ส่วนที่สอง เป็นข้าวโพดฤดูฝนจะปลูกบนพื้นที่ทั้งหมด 120 ไร่
ตัวอย่างการแบ่งสัดส่วนพื้นที่สำหรับปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในฤดูแล้งของคุณเสก
คุณเสก เผยว่า ระบบน้ำหยดนั้นใช้การลงทุนไม่มาก ประหยัดน้ำ ทั้งยังให้ปริมาณน้ำที่สม่ำเสมอ เหมาะกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ชอบดินแฉะ ทำให้การปลูกข้าวโพดฤดูแล้งมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อเราสามารถควบคุมการให้น้ำได้แล้ว ก็สามารถเพิ่มปริมาณต้นข้าวโพดให้มากขึ้นได้ด้วย เพราะไม่ต้องกังวลว่าข้าวโพดจะขาดน้ำ เช่น
หากข้าวโพดฤดูฝน ใช้ปริมาณเมล็ดพันธุ์ 2-3 กก./ไร่ ข้าวโพดฤดูแล้ง จะใช้เมล็ดพันธุ์ 3-3.5 กก./ไร่ ทำให้ได้ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้ง จะปลูกด้วยระบบน้ำหยด ช่วยให้ได้น้ำเพียงพอ
“วัชพืช” ศัตรูสำคัญไม่ควรมองข้ามสาเหตุทำผลผลิตลดลงกว่าครึ่ง!
เกษตรกรบางส่วนคิดว่าการดูแลข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ได้ผลผลิตคุณภาพ ฝักสวย น้ำหนักดีนั้นอยู่ที่การบำรุง แต่ความจริงแล้วปัจจัยที่สำคัญที่ไม่แพ้กัน คือ “การกำจัดวัชพืช” เพราะวัชพืชนั้นส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากกว่าปัญหาแมลงและโรคพืชเสียอีก (ข้อมูล : วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร)
วัชพืชหลักของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ประเภทใบแคบ เช่น หญ้าตีนนก หญ้าตีนติด และหญ้าปากควาย
2. ประเภทใบกว้าง เช่น ผักเบี้ย ผักโขม และหญ้าสาบม่วง
โดยวัชพืชเหล่านี้ จะเข้าไปแย่งอาหาร น้ำ แสงสว่าง และพื้นที่การเจริญเติบโต ทำให้ข้าวโพดลำต้นเล็ก ต้นเตี้ย ใบเหลือง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลงกว่าครึ่ง
คุณเสกเผยว่า ช่วงวิกฤตของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่อ่อนแอต่อวัชพืชมากที่สุด คือระยะ 13-25 วันหลังงอก ระยะนี้ถ้ามีวัชพืชรบกวนจะทำให้ผลผลิตข้าวโพดเสียหายสูงสุด ดังนั้น การปลูกข้าวโพดให้ได้ผลผลิตสูง จำเป็นต้องมีการจัดการให้แปลงปลอดวัชพืชตลอดช่วง 1 เดือนแรกตั้งแต่ปลูก
ชุด “คลีโอ-โปร” เป็นตัวช่วยสำคัญในการ “คุมและกำจัดวัชพืช”
โดยที่แปลงของตนนั้นจะใช้ชุด “คลีโอ-โปร” เป็นตัวช่วยสำคัญในการ “คุมและกำจัดวัชพืช” ในชุดจะประกอบด้วย 1.คลีโอ (โทพรามีโซน) 2.ทาซีแม็กซ์-โปร (อะทราซีน 90% ดับบลิวจี) 3.เบสมอร์ (สารเสริมประสิทธิภาพ) ใช้ร่วมกันทำให้การควบคุมวัชพืชมีประสิทธิภาพมาก
สำหรับช่วงเวลาการใช้ คุณเสกจะปรับตามความเหมาะสมของฤดูที่ปลูกข้าวโพด ดังนี้
- ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝน จะใช้ชุด “คลีโอ-โปร” ร่วมกับสารกำจัดหนอน ช่วงหลังปลูก 10-20 วัน ขึ้นอยู่กับปริมาณวัชพืช หากวัชพืชขึ้นเร็ว ก็สามารถฉีดพ่นได้ทันที
ช่วงระยะการฉีด คลีโอ-โปร ที่แนะนำ สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกช่วงฤดูฝน
- ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้ง หญ้าจะขึ้นช้า แต่หนอนจะมากและเข้าทำลายเร็วกว่าฤดูฝน ดังนั้น ช่วงหลังปลูกวัน 10 วันแรก จะเริ่มใช้สารกำจัดหนอนก่อน จากนั้นนับไปอีกประมาณ 5-10 วัน จึงจะใช้ “คลีโอ-โปร” โดยการใช้ในฤดูแล้ง ต้องฉีดพ่นขณะที่ดินมีความชื้นเพียงพอ เพื่อให้สารเข้าทำลายเมล็ดวัชพืชที่กำลังจะงอกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ช่วงระยะการฉีด คลีโอ-โปร ที่แนะนำ สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกช่วงฤดูแล้ง
โดยคุณเสก เล่าว่า สมัยก่อนนั้นเกษตรกรจะต้องมีการกำจัดวัชพืช 2 ขั้นตอน เริ่มจาก “การฉีดยาคุม” ช่วงหลังหยอดเมล็ดข้าวโพดไม่เกิน 7 วัน (ก่อนวัชพืชงอก) เพื่อกำจัดเมล็ด ราก และยอดอ่อนใต้ดินของวัชพืช ตามด้วย “การฉีดไล่ร่อง” หลังหยอดเมล็ด 20 วันขึ้นไป เพื่อกำจัดวัชพืชอีกครั้ง
“แต่ปัจจุบันนั้นมี “คลีโอ-โปร” เกษตรกรใช้แค่รอบเดียวจบเลยครับ โดยฉีดพ่นได้ตั้งแต่ข้าวโพดอายุ 14-21 วัน ออกฤทธิ์ทั้ง “คุม” และ “กำจัด” วัชพืชในขั้นตอนเดียว ทำให้ไม่ต้องฉีดพ่นซ้ำ ประหยัดเวลาได้มาก สำหรับเกษตรกรที่จ้างแรงงานก็ช่วยให้ประหยัดค่าจ้างได้ เพราะคลีโอ-โปรใช้แค่ครั้งเดียว ก็จ้างแรงงานแค่รอบเดียว นอกจากนี้ยังใช้งานสะดวกด้วย สามารถพ่นทับต้นข้าวโพดได้เลยครับ ใช้ได้กับทั้งข้าวโพดหวาน และข้าวโพดพ่อแม่พันธุ์ก็ได้ วัชพืชตายแต่ข้าวโพดไม่เป็นไรครับ” คุณเสก เล่าถึงจุดเด่นของ “คลีโอ-โปร”
“คลีโอ-โปร” ออกฤทธิ์ทั้ง “คุม” และ “กำจัด” วัชพืชในขั้นตอนเดียว ฉีดทับข้าวโพดได้เลย ใช้แค่รอบเดียวจบ
แปลงที่สะอาด ไม่มีวัชพืชแย่งธาตุอาหาร เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ผลผลิตสูง
เคล็ดลับบำรุงข้าวโพดฝักใหญ่ เมล็ดเต็มฝัก น้ำหนักดีขึ้นชัดเจน
นอกจากการดูแลเรื่องวัชพืชแล้ว การดูแลเรื่องธาตุอาหารก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน ซึ่งโดยปกติแล้วข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ควรมีการบำรุงทางดินอย่างน้อย 2 รอบ เพื่อให้มีธาตุอาหารเพียงพอกับการสร้างผลผลิตได้เต็มที่ ดังนี้
- รอบที่ 1 คือ “ช่วงรองพื้น” จะใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 รองพื้น หยอดไปพร้อมเมล็ดพันธุ์
- รอบที่ 2 คือ “ช่วงทำรุ่น” จะใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ผสมกับ 46-0-0 หลังปลูก 25-30 วัน เพื่อเตรียมพร้อมเตรียมออกดอก และติดฝัก
แต่สำหรับคุณเสก จะเพิ่มการบำรุงด้วย “อโทนิค” ในอัตรา 100 ซีซี ต่อพื้นที่ 3 ไร่ ทุกครั้งที่ฉีดพ่นสารกำจัดหนอน เพื่อให้ต้นข้าวโพดเขียว ลำต้นพุ่ง ได้ฝักสมบูรณ์ เมล็ดใหญ่ เต็มฝัก
โดยหากเป็น “ข้าวโพดหน้าแล้ง” จะใช้ “อโทนิค” ฉีดพ่นทุก 10-15 วันครั้ง ต่อเนื่อง 4 รอบ
หากเป็น “ข้าวโพดหน้าฝน” จะใช้ “อโทนิค” ฉีดพ่นทุก 10-15 วันครั้ง ต่อเนื่อง 3 รอบ
คุณเสก เผยว่า ในช่วงแรกที่ทดลองใช้ “อโทนิค” นั้น ตนเองได้แบ่งใช้กับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แค่เพียงไม่กี่แถวเท่านั้น แล้วทำสัญลักษณ์ไว้เพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ พอลองถามคนอื่นว่าข้าวโพดแถวไหนสมบูรณ์ ก็ได้รับคำตอบว่าเป็นแถวที่ใช้ “อโทนิค” จากนั้นตนเองจึงตัดสินใจใช้อโทนิคกับข้าวโพดแปลงที่เหลือทั้งหมด ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้ บางช่วงที่ปุ๋ยขาดตลาด จึงมีความจำเป็นต้องลดปริมาณการใช้ปุ๋ยลงบ้าง เพื่อให้เพียงพอสำหรับพื้นที่แปลงทั้งหมด แต่การใช้อโทนิคนั้นก็ช่วยได้มาก เพราะช่วยเสริมให้ต้นข้าวโพดสมบูรณ์ สามารถให้ผลผลิตได้ดีเช่นเดิม
โดยปกติ “ข้าวโพดฤดูฝน” ที่ปลูกแบบปล่อยตามธรรมชาติจะได้ผลผลิตไม่เกิน 1 ตัน/ไร่ แต่แปลงที่คุณเสกบำรุงจะได้ผลผลิตมากกว่า 1.2-1.5 ตัน/ไร่ ส่วน “ข้าวโพดฤดูแล้ง” หากไม่ได้รับการดูแล จะให้ผลผลิตประมาณ 1 ตัน/ไร่ แต่แปลงที่คุณเสกบำรุงจะได้ผลผลิตอยู่ที่ 1.8-2 ตัน/ไร่
“บางคนคิดว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นปลูกง่าย ก็เลยปลูกแบบตามมีตามเกิด ทำให้ได้ผลผลิตต่ำจนขาดทุน หันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน แต่สำหรับผมนั้นถ้าเราบำรุงให้ดีจะได้ผลผลัพธ์ที่ต่างกันมากครับ เพราะข้อดีของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คือราคาจะไม่ค่อยผันผวน ไม่เน่าเสีย มีตลาดรองรับตลอด แต่หากเป็นพืชผักชนิดอื่นบางครั้งที่ราคาตก ผลผลิตอาจจะเน่าเสียหายจนขายไม่ได้เลย ดังนั้น ถ้าเรามองข้อดีนี้ แล้วหันมาบำรุงผลผลิตให้ได้คุณภาพ น้ำหนักดี ก็ถือว่าคุ้มนะครับ เพราะเราเห็นผลจริง ได้เงินเพิ่มขึ้นจริง” คุณเสก กล่าวถึงความสำคัญการบำรุงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฝักสวย สมบูรณ์ เวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตเมล็ดจะใหญ่ น้ำหนักดี
ผลผลิตได้ราคา สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ต่อยอดด้วยเทคโนโลยีการเกษตร
สำหรับรูปแบบการขายผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรสามารถเลือกได้หลายรูปแบบตามความสะดวก หรือความต้องการของลานรับซื้อในท้องถิ่น เช่น แบบฝักความชื้นไม่เกิน 30%, แบบเมล็ดความชื้นไม่เกิน 30% และแบบเมล็ดความชื้นไม่เกิน 14.5% ซึ่งยิ่งความชื้นต่ำก็จะยิ่งมีราคาสูง
ในกรณีของคุณเสก จะเก็บผลผลิตโดยใช้ “เครื่องเกี่ยวนวดข้าวโพด” ที่สามารถหักข้าวโพดพร้อมนวดข้าวโพดออกมาเป็นเมล็ดข้าวโพดได้ทันที จากนั้นจะขายในรูปแบบ “เมล็ดความชื้นไม่เกิน 30%” ซึ่งในช่วงปี 2564-2565 นั้นถือเป็นปีทองของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยราคาของเมล็ดความชื้นไม่เกิน 30% อยู่ที่ประมาณ 7.8-9 บาท/กก. ส่วนความเมล็ดความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 10-12 บาท/กก.
คุณเสก เผยว่า ปกติแล้วลานรับซื้อจะชอบข้าวโพดที่เมล็ดใหญ่ ไม่มีรอยแตกหัก เนื่องจากทำให้เชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย หากมีเมล็ดลีบ ฝ่อ ไม่ได้คุณภาพ ส่วนใหญ่จะถูกเครื่องเกี่ยวเป่าออกตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวแล้ว ดังนั้น หากเกษตรกรดูแลข้าวโพดไม่สมบูรณ์ ก็จะทำให้ได้น้ำหนักน้อยตามไปด้วย
ข้าวโพดที่เมล็ดใหญ่ ไม่มีรอยแตกหัก จะเป็นที่ต้องการของตลาด
ปัจจุบัน คุณเสก ได้ต่อยอดการทำเกษตรด้วยการลงทุนซื้อ “โดรน” เพื่อใช้ฉีดพ่นฮอร์โมนและสารกำจัดศัตรูพืชต่างๆ ทำให้การจัดการพื้นที่กว่า 120 ไร่นั้นสะดวก รวดเร็ว และช่วยตัดปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ ทั้งยังสามารถนำไปใช้สร้างรายได้จากการรับจ้างทางการเกษตรได้อีกด้วย
การใช้โดรนทางการเกษตรเป็นทางเลือกที่ช่วยให้การทำงานเร็วขึ้น และประหยัดแรงงานคน
หลายคนอาจมองว่า “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” เป็นพืชที่มีราคาไม่น่าดึงดูดนัก แต่สำหรับคุณเสกนั้นเชื่อมั่นเสมอว่า หากมีการดูแลผลผลิตให้มีคุณภาพ ควบคู่กับการวางแผนการปลูกที่ดีจะช่วยให้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนได้ไม่แพ้พืชชนิดอื่น เพียงแต่เกษตรกรต้อง ใส่ใจและเข้าใจว่า “ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ผลผลิตลดลง” เช่น เรื่องวัชพืช ก็ต้องดูแลให้เหมาะสม ส่วน “ปัจจัยที่ช่วยเพิ่มผลผลิต” เช่น เรื่องการบำรุง ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะรายได้จากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เลี้ยงนั้นวัดกันที่น้ำหนักต่อไร่เป็นหลัก ถ้าผลผลิตต่ำก็จะรายได้ต่ำตามไปด้วย แต่หากมีการจัดการอย่างสมดุลทั้ง 2 องค์ปะกอบก็จะทำให้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก
ติดตามข่าวสารอื่นๆ ข้อมูลสินค้า และข่าวสารจากอารักขาพืชเจียไต๋ เพิ่มเติมได้ที่
Facebook: www.facebook.com/ChiataiPlantprotection
YouTube: www.youtube.com/@Chiataiplantprotection
ข้อมูลสินค้าอารักขาพืช : www.chiataigroup.com/business/plant-protection/FoliarFertilizerAndHormone