เคล็ดไม่ลับ! ทำทุเรียนเกรดส่งออก ต้องเน้นออกดอกดี ขั้วเหนียว ทรงสวย ถูกใจตลาด

       “ทุเรียน” ได้ชื่อว่าเป็นผลไม้ที่ปลูกยากชนิดหนึ่ง เนื่องจากต้องอาศัยความใส่ใจในการปลูกสูง และยังมีปัจจัยเรื่องสภาพอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อการให้ผลผลิตโดยตรง ทำให้เกษตรกรต้องใช้ประสบการณ์ในการสังเกต ดูแล วางแผนการจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อให้ทุเรียนสามารถออกผลผลิตได้อย่างราบรื่น

 

       ปกติแล้วทุเรียนจะเริ่มให้ผลผลิตหลังปลูกประมาณ 4-5 ปี แต่ที่แปลงของเฮียสิน-คุณนิสิน จิตวิสุทธิ์ศรี ต.ตรอกนอง อ.ขลุง จ.จันทบุรี สามารถปลูกทุเรียนให้ออกผลผลิตในเวลา 3 ปี เท่านั้น

 

       คุณนิสิน เผยว่า การปลูกทุเรียนให้ได้ผลผลิตเร็ว มีพื้นฐานตั้งแต่การคัดเลือกกิ่งพันธุ์ การบำรุงต้น-ใบให้สมบูรณ์ รวมถึงการตัดแต่งกิ่งให้อยู่ในสภาพเหมาะสมสำหรับการออกดอก ซึ่งช่วงที่เรียกได้ว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อเลยก็คือ “ช่วงติดดอก” เพราะเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าทุเรียนนั้นจะให้ผลผลิตได้มาก-น้อยแค่ไหน ยิ่งในระยะหลังนั้นมีปัญหาเรื่องสภาพอากาศที่แปรปรวน ก็ยิ่งส่งผลกับดอกทุเรียนโดยตรง หากเกษตรกรไม่สามารถดูแลได้อย่างเหมาะสม ดอกอาจจะร่วงหมดจนไม่เหลือให้ติดผลเลยก็ได้

 

       ปัจจุบัน คุณนิสินมีพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 60 ไร่ สามารถมีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่น้อยกว่า 80 ตัน โดยเป็นเกรดส่งออกมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ความสำเร็จนี้เกิดจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์กว่า 10 ปี

 

       ถ้าอยากรู้ว่า ทำอย่างไรให้ทุเรียนออกดอกดี สามารถติดผลทรงสวย ได้เกรดส่งออกแบบนี้ คุณนิสิน จะมาเผยเคล็ดลับให้ฟังกันแบบเต็มๆ!

 

 

ปลูก “ทุเรียน” ให้ได้คุณภาพต้องใส่ใจเรื่องอะไรบ้าง    

 

       “ทุเรียน” เป็นไม้ผลที่เริ่มให้ผลิตหลังปลูกตั้งแต่อายุ 4-5 ปี ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น โดยที่แปลงของเฮียสิน สามารถทำให้ทุเรียนได้ผลผลิตตั้งแต่ อายุ 3 ปีเท่านั้น โดยปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ทุเรียนได้ผลผลิตมีคุณภาพ ควรใส่ใจใน 3 เรื่องหลัก คือ

 

       1. การปรับปรุงสภาพแปลงให้เหมาะสม เนื่องจากทุเรียนเป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำท่วมขัง คุณนิสิน แนะนำว่า หากปลูกในพื้นที่ดอน ให้ศึกษาช่องทางการระบายน้ำภายในแปลงก่อน ถ้าบริเวณใดมีน้ำท่วมขัง ต้องทำทางน้ำไหลให้พร้อม หากปลูกในพื้นที่ลุ่ม หรือพื้นที่ฝนตกชุก ควรปลูกแบบ “นั่งแท่น หรือยกโคก” ให้ต้นอยู่สูงกว่าระดับดินปกติอย่างน้อย 0.8 - 1 เมตร เพื่อหลีกเลี่ยงน้ำท่วมขังราก

 

การปลูกแบบ “นั่งแท่น หรือยกโคก” จะพูนโคนสูงอย่างน้อย 0.8-1 เมตร

 

 

       2. การวางระบบน้ำ ทุเรียนเป็นพืชที่ต้องการน้ำในปริมาณมาก หากขาดน้ำในช่วงติดผล อาจทำให้ทุเรียนมีอาการ “เนื้อแกน” คือ เนื้อแข็ง สีซีด และมีรสขมได้ เกษตรกรจึงต้องเตรียมแหล่งน้ำสำรองให้เพียงพอ โดยในแปลงของคุณนิสิน จะใช้ระบบน้ำเป็น “ระบบน้ำหยด” จากบ่อบาดาลที่ขุดเจาะไว้ถึง 3 บ่อ ช่วยให้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูการผลิต

 

       3. การวางผังปลูก สำหรับระยะปลูกทุเรียนที่นิยมใช้กัน คือ 8x8 เมตร จะปลูกทุเรียนได้ประมาณ 25 ต้น/ไร่ โดยคุณนิสิน เผยว่า ในความเป็นจริงที่มีพื้นที่จำกัด เกษตรกรอาจะใช้ระยะแคบกว่านี้ได้ แต่ต้องมีการตัดแต่งกิ่ง จัดการทรงพุ่มให้ดี เพื่อให้ต้นได้รับแสงอย่างทั่วถึง สามารถสังเคราะห์แสงได้มีประสิทธิภาพ และยังส่งผลดีต่อการถ่ายเทอากาศดี ลดความเสี่ยงของโรค เช่น โรคผลเน่าจากเชื้อราที่แพร่มาจากใบได้

 

 

การเลือกกิ่งพันธุ์ และการดูแลทุเรียนเล็กเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

 

       คุณนิสิน เผยว่า ทุเรียนที่ตนเองปลูกนั้นเป็นพันธุ์หมอนทองมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เอกลักษณ์ของสายพันธุ์นี้คือกลิ่นไม่แรง เนื้อเยอะ ไม่แฉะ ถูกปากคนไทย ส่วนคนจีนก็ถูกใจไม่แพ้กัน และที่สำคัญคือ “ชื่อ” ของหมอนทองนั้นมีความเป็นสิริมงคล เป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภ ชาวจีนจึงนิยมซื้อหาเป็นของฝากและใช้เป็นผลไม้มงคลในเทศกาลสำคัญ อย่างไรก็ตาม คุณนิสินแนะนำว่า ไม่ว่าจะเลือกปลูกทุเรียนสายพันธุ์ใดก็ตาม แต่ข้อสำคัญคือ การเลือกกิ่งพันธุ์ โดยจะมีหลักในการพิจารณา ดังนี้

 

       1. ใช้กิ่งพันธุ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าได้กิ่งพันธุ์ที่มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ ไม่มีโรคและแมลงเข้าทำลาย

 

       2. กิ่งพันธุ์ต้องไม่ใหญ่เกินไป มีความสูงประมาณ 80 - 90 ซม. โคนกิ่งใหญ่ประมาณไม่เกินนิ้วชี้ เพราะหากกล้าที่ต้นสูง โคนใหญ่ แสดงว่าอายุมากกว่า 1 ปีแล้ว

อาจจะมี “รากขด” ที่ก้นถุง

 

       “รากขด” นั้นเกิดจากการปลูกทิ้งไว้ในถุงดำนานเกินไป ระบบรากที่ถูกจำกัดพื้นที่จะขดเป็นปมอยู่ภายในถุง ทำให้เวลานำไปปลูก ต้นจะไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่

เป็นสาเหตุให้บางคนปลูกทุเรียนมาหลายปีกลับไม่ให้ผลผลิตสักที

 

   

       สำหรับการดูแลทุเรียนเล็ก (อายุ 1-3 ปี) ช่วงก่อนให้ผลผลิต จะยังไม่มีความซับซ้อนมาก เพียงแต่คอยดูแลไม่ให้ขาดน้ำ และมีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์บ้าง จนกระทั่งต้นอายุประมาณ 3 ปี จะเริ่มตัดแต่งกิ่งเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำใบ โดยทุเรียนที่เริ่มให้ผลผลิตควรมีกิ่งประธาน 12-15 กิ่ง เวียนรอบต้น โดยกิ่งประธานแต่ละกิ่งควรมีกิ่งรอง 3-4 กิ่ง และมีกิ่งแขนงพอประมาณ ไม่บังแสงซึ่งกันและกัน

 

 

ทุเรียนคุณภาพ เริ่มต้นที่ “การทำใบ”

 

       การดูแลทุเรียนช่วงให้ผลผลิต จะมีความซับซ้อนมากกว่าทุเรียนช่วงเริ่มปลูก (อายุ 1-3 ปี) มาก เพราะกว่าจะได้ผลทุเรียนที่มีคุณภาพ ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างสัมพันธ์กัน เริ่มตั้งแต่การบำรุง “ต้น” เรื่อยไปจนถึง “ใบ” และ “ดอก” ซึ่งปริมาณดอกทุเรียนจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของใบ และหากดอกสมบูรณ์ ก็จะนำไปสู่ผลที่สมบูรณ์ด้วยเช่นกัน

 

       คุณนิสิน เผยว่า หลังจากตัดแต่งกิ่งทุเรียนเรียบร้อยแล้ว จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการ “ทำใบ” คือการเตรียมความพร้อมให้ใบสะสมอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการเจริญเติบโตของใบจะมี 3 ระยะ คือ 1.ใบอ่อน 2.ใบเพสลาด และ 3.ใบแก่ โดยการทำใบแต่ละชุดจะใช้เวลา 30-45 วัน รวมแล้วการทำใบทั้ง 3 ชุด จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน

 

   

       โดยคุณนิสิน แนะนำว่า ควรทำให้เกิดการแตกใบทั้งหมด 3 ชุด เพื่อให้เกิดการสะสมอาหารอย่างเพียงพอต่อการติดดอกและเลี้ยงผลในอนาคต ซึ่งในกรณีของทุเรียนเขต จ.จันทบุรี นิยมทำใบให้เสร็จภายในประมาณเดือนกรกฎาคม เพื่อให้ทันกับช่วงกระทบแล้ง

 

       ทั้งนี้ เทคนิคสำคัญในการ “ทำใบ” ของคุณนิสิน คือ หลังจากตัดแต่งกิ่งเรียบร้อยแล้ว จะใช้ “อโทนิค” ราดโคนต้น อัตรา 100 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร/ต้น ทั้งหมด 1 ครั้ง เพื่อให้พืช

มีระบบรากที่ดี มีส่วนช่วยในการแตกราก สร้างรากใหม่ ทำให้พืชสามารถดูดซับอาหารทางดินได้ดี ส่งเสริมให้การสร้างใบดีขึ้น โดยหากใช้ “อโทนิค” ตั้งแต่ช่วงก่อนทุเรียนให้ผลผลิต

จะช่วยให้ต้นสมบูรณ์แข็งแรง สามารถให้ผลผลิตได้ไวขึ้น ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำให้แปลงทุเรียนของคุณนิสินนั้น สามารถให้ผลผลิตตั้งแต่อายุ 3 ปีเท่านั้น

 

 

ใช้ “อโทนิค” ราดโคนต้นทุเรียน ช่วยในการแตกราก สร้างรากใหม่

 

       “หลังจากใช้อโทนิคได้ประมาณ 3-4 วัน เราจะสังเกตได้เลยครับว่า รากของทุเรียนบางส่วนที่อยู่เหนือดินจะแตกรากใหม่เป็นสีขาว เมื่อปริมาณรากเยอะ ก็จะหาอาหารได้ดี สภาพต้นและใบก็จะสมบูรณ์ตามไปด้วย โดยใบทุเรียนที่แก่ จะมีลักษณะสีเขียวเข้ม หนา เป็นมันเงา ถ้าใบสะสมอาหารพร้อม พอเจออากาศเริ่มแห้ง ลมหนาวเข้ามา ดอกทุเรียนจะเริ่มแตกขึ้นมาให้เห็นเลยครับ แต่ถ้าใบของเรายังไม่พร้อม ก็จะเสียโอกาสการติดดอกไป” คุณนิสิน เล่าถึงความสำคัญของการทำใบ

 

 หลังใช้ “อโทนิค” จะเกิดการแตกรากใหม่ขึ้นอย่างชัดเจน

 

 

เคล็ดลับทำดอกทุเรียนดกและดีขั้วเหนียว ติดผลชัวร์  สู้อากาศแปรปรวน

 

       ทุเรียนหนึ่งต้นนั้นสามารถออกดอกได้มากถึง 20,000 – 40,000 ดอก ซึ่งปริมาณดอกจะดกหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก ปัจจัยแรก คือ ความสมบูรณ์พร้อมของต้นและใบ หากเกษตรกรมีการบำรุงต้นและใบให้มีการสะสมอาหารอย่างเพียงพอ ทุเรียนก็จะสามารถสร้างดอกได้มากและเป็นดอกรุ่นเดียวกัน ทำให้สะดวกต่อการตัดแต่งผล การไว้ผล เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากที่สุด

 

       ปัจจัยที่สอง คือ เรื่องของสภาพอากาศ โดยทุเรียนจะต้องผ่านช่วงฝนแล้งต่อเนื่องนาน 10-14 วัน จึงจะเพียงพอต่อการสร้างดอก แต่ในระยะหลังมานี้ ประเทศไทยเผชิญกับสภาวะอากาศแปรปรวนทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน และความชื้นสัมพัทธ์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อ “ช่วงออกดอก” โดยตรง

 

       ปกติแล้วทุเรียนเขตภาคตะวันออก จะติดดอกในช่วงเดือนธันวาคม ถึงกลางเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศเย็น และบางครั้งเกิดอุณหภูมิแปรปรวนกะทันหัน

หรือเกิดฝนหลงฤดู เป็นสาเหตุให้ทุเรียนดอกร่วง หลักสำคัญของคุณนิสิน คือ ต้องเข้าใจถึงช่วงเปราะบางในแต่ละระยะ เพื่อป้องกันให้ตรงจุด

 

       โดยดอกทุเรียนจะมีทั้งหมด 9 ระยะ (ใช้เวลาในการพัฒนาประมาณ 2 เดือน) คือ 1. ระยะไข่ปลา 2. ระยะตาปู 3.ระยะเหยียดตีนหนู 4.ระยะมะเขือพวงอ่อน (หรือระยะกระดุม)

5.ระยะเม็ดมะเขือพวง 6.ระยะหัวกำไล 7.ระยะดอกเหลือง (หรือระยะดอกขาว) 8.ระยะดอกบาน และ 9.ระยะหางแย้

 

       

       คุณนิสิน เผยว่า ช่วงสำคัญแรกของดอกทุเรียน คือ “ระยะดอกหัวกำไล” เพราะมักตรงกับช่วงที่อากาศเปลี่ยนเข้าสู่หน้าหนาว จะต้องดูแลดอกเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้หลุดร่วงง่าย เคล็ดลับสำคัญ คือใช้ “อโทนิค อัตรา 100 ซีซี/น้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นที่ตำแหน่งดอก เพื่อให้ดอกสมบูรณ์และขั้วเหนียว ทนต่อทุกสภาพอากาศที่แปรปรวน

 

ใช้ “อโทนิค” ฉีดพ่นตำแหน่งดอก ช่วง “ระยะดอกหัวกำไล” ช่วยให้ขั้วดอกเหนียวไม่หลุดร่วงง่าย

 

       ช่วงถัดมา คือ “ระยะดอกบาน” เนื่องจากดอกจะมีกลิ่นหอมล่อแมลงศัตรูพืช เกษตรกรควรฉีดพ่นสารกำจัด “เพลี้ยไฟก่อนดอกบานประมาณ 7-10 วัน

 

       ส่วนการผสมดอก หรือที่ชาวสวนเรียกว่า “การปัดดอก” ควรเลือกช่วงเวลา 19.00 น.- 20.00 น. หากผสมช้ากว่านี้ ดอกจะร่วงหมด โดยการปัดดอกนี้ จะช่วยให้การผสมเกสรสมบูรณ์ ช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์การติดผล ถือเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ช่วยให้ได้ทุเรียนมีคุณภาพ มีพูเต็มจำนวน 4-5 พู

 

       ส่วนช่วงที่สำคัญมากที่สุด คือ “ระยะหางแย้” เป็นระยะที่เริ่มเข้าสู่การติดผล ซึ่งมักตรงกับช่วงปีใหม่ที่อากาศหนาวหนาวจัดและลมแรง คุณนิสิน จะใช้ “อโทนิค อัตรา 100 ซีซี/น้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นที่หางแย้ เพื่อช่วยปรับสภาพของดอกให้ทนทานต่อสภาพอากาศ และพัฒนาเป็นผลได้เร็วขึ้น

 

ใช้ “อโทนิค” ช่วง “ระยะหางแย้” ช่วยให้ดอกพัฒนาเป็นผลอ่อนได้ไวขึ้น

 

       “หลังฉีดพ่นอโทนิคได้ประมาณ 3-4 วัน จะสังเกตได้เลยว่า หางแย้นั้นเริ่มป่องเป็นผลและมีหนามเล็กๆ ขึ้นมา พอเห็นแบบนี้เราก็เริ่มเบาใจได้ในระดับหนึ่งครับ แม้ว่าเรื่องดิน ฟ้า อากาศ เราจะควบคุมไม่ได้ แต่ก็สามารถลดความเสียหาย เพิ่มอัตราการติดผลให้ทุเรียนเราได้ อย่างอโทนิคนี่ขาดไม่ได้เลย ชาวสวนทุเรียนจันท์คุ้นเคยกันดี ใช้แล้วรู้สึกมั่นใจว่า

ดอกแข็งแรง ขั้วเหนียว โอกาสติดผลสูง ถ้าไม่ใช้แล้วนอนไม่หลับเลยครับ” คุณนิสิน เล่าถึงความประทับใจใน “อโทนิค” ให้ฟัง

 

หลังฉีดพ่นอโทนิคได้ประมาณ 3-4 วัน หางแย้นั้นเริ่มป่องเป็นผลและมีหนามเล็กๆ ขึ้นมา

 

 

การตัดแต่งผลเทคนิคง่ายๆ ช่วยให้ทุเรียนทรงสวย

 

       การตัดแต่งผลเป็นขั้นตอนที่ “จำเป็น” สำหรับทุเรียนมาก หากเกษตรกรคัดเฉพาะลูกที่เหมาะสมไว้ จะช่วยให้ได้ผลผลิตที่ทรงสวย ผลใหญ่ พูเต็มในแบบที่ตลาดต้องการ

 

       สำหรับช่วงเวลาที่ตัดแต่งผล จะทำทั้งหมด 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1  ขนาดผลเท่านิ้วโป้ง, ครั้งที่ 2 ขนาดผลเท่าไข่ไก่ และครั้งที่ 3 ก่อนโยงกิ่ง โดยคุณนิสิน จะมีหลักในการใช้คัดเลือกผล 3 ข้อ คือ  

 

       1. จำนวนผลควรสัมพันธ์กับอายุและความสมบูรณ์ของกิ่ง หากต้นอายุ 3-5 ปี ควรไว้ผลประมาณ 20-30 ผล/ต้น , ต้นอายุ 8 ปีขึ้นไป ควรไว้ประมาณ 50-80 ผล/ต้น

และต้นที่อายุ 20 ปีขึ้นไป อาจไว้ได้ถึง 200 ผล/ต้น ซึ่งถ้าเหลือผลไว้บนต้นน้อยเกิน จะทำให้ได้ทุเรียนไซส์ใหญ่จนตกเกรด แต่ถ้าไว้ผลมาก ก็จะทำให้ได้ผลขนาดเล็กเช่นกัน

 

       2. ตำแหน่งผลในกิ่ง ควรไว้ผลในตำแหน่งช่วงกลาง หรือค่อนไปทางปลายกิ่ง หากผลที่อยู่ใกล้    ลำต้นควรปลิดทิ้ง เนื่องจากการพัฒนาจะไม่ดี

 

      3. รูปทรงผล ควรเป็นผลที่มีทรงยาวเล็กน้อย เพราะจะขยายได้เสมอกันทุกด้าน พูเต็ม หากผลเบี้ยวหรือกลมควรปลิดทิ้ง เพราะทรงจะพัฒนาออกเฉพาะด้านข้างไม่สมดุล 

 

การไว้ผลทุเรียนในตำแหน่งและทรงที่เหมาะสม เป็นปัจจัยให้ได้ทุเรียนเกรดเอ

 

 

ผลผลิตคุณภาพสม่ำเสมอ เน้นขายล้งเหมายกสวน

 

       ทุเรียนในเขตภาคตะวันออกส่วนใหญ่จะเริ่มออกผลผลิตช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งถือว่าเป็นข้อได้เปรียบกว่าทุเรียนภาคอื่น เพราะตรงกับช่วงเทศกาลไหว้เจ้าของประเทศจีน ทำให้ตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูงและสามารถขายได้ราคาดีมาก

 

โดยการแบ่งเกรดผลผลิต จะแบ่งออกตามน้ำหนักและจำพวนพู ดังนี้

 

       - เกรดเอ น้ำหนัก 2-6 กก. มีจำนวน 4-5 พูเต็ม

       - เกรดบี น้ำหนัก 2-6 กก. มีจำนวน 3 พูเต็ม กับอีก 1 เมล็ด
       - เกรดซี น้ำหนัก 2-6 กก. มีจำนวน 2 พูเต็ม กับอีก 1 เมล็ด
       - ตกเกรด คือ ทุเรียนผิวไม่สวย น้ำหนักต่อผลเกิน 6 กก. หรือน้อยกว่า 1.5 กก.

 

       ทั้งนี้ ทุเรียนเกรดเอ บี ซี นั้นสามารถส่งออกได้ทั้งหมด โดยผลิตของคุณนิสิน นั้นเป็นเกรดเอมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ จนทำให้มีผู้รับซื้อ (ล้ง) มาติดต่อจองผลผลิตกันตั้งแต่ยังไม่ติดผลเลยทีเดียว

 

       สำหรับผลผลิตที่สวนของคุณนิสิน จะขายในรูปแบบที่เรียกว่า “คว่ำหนาม” คือ ทุกผล ทุกเกรด จะจำหน่ายในราคาเดียว (ยกเว้นผลที่เป็นโรค-ผิวไม่สวย) โดยตัวแทนล้งจะเข้ามาเสนอราคารับซื้อเหมาสวนในช่วงก่อนผลผลิตออก หากตกลงราคาเรียบร้อยแล้วจะมีการทำสัญญากัน ซึ่งในแง่หนึ่ง การขายในรูปแบบนี้ก็เป็นการลดต้นทุนบางส่วน เพราะล้งจะเป็นฝ่ายนำแรงงานมาเก็บผลผลิต และนำไปยังโรงคัดบรรจุเอง โดยผลผลิตเฉลี่ยในแต่ละปีของคุณนิสิน จะอยู่ที่ประมาณ 80 ตัน ต่อพื้นที่ 60 ไร่

 

ผลผลิตเป็น “เกรดเอ” มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์

 

       คุณนิสิน เผยว่า แม้ว่าตนเองจะปลูกทุเรียนมานานกว่า 10 ปี แต่ทุกวันนี้ก็ยังต้องเรียนรู้อยู่เสมอ เพราะดินฟ้าอากาศนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่หาทางพัฒนารูปแบบการทำเกษตรบ้าง ก็ยากที่จะได้ผลลัพธ์เหมือนเดิม

 

       ประสบการณ์ของคุณนิสิน ถือเป็นแง่คิดสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนทั้งมือเก่าและมือใหม่ว่า การจะดูแลทุเรียนให้ได้ผลผลิตนั้น นอกจากจะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น การบำรุงต้น ใบ และดอกเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการติดผลแล้ว การปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งหากเรามีการดูแล เฝ้าระวังอย่างตรงจุด ก็สามารถลดความเสียหาย และเพิ่มศักยภาพการผลิตของเราได้เช่นกัน

 

ติดตามข่าวสารอื่นๆ ข้อมูลสินค้า และข่าวสารจากอารักขาพืชเจียไต๋ เพิ่มเติมได้ที่ 

Facebook : www.facebook.com/ChiataiPlantprotection  

YouTube : https://www.youtube.com/@Chiataiplantprotection  

ข้อมูลสินค้าอารักขาพืช : https://www.chiataigroup.com/business/plant-protection/FoliarFertilizerAndHormone