“เมล่อน” เป็นผลไม้ที่มีราคาต่อผลสูง สามารถปลูกได้ดีในประเทศไทย เนื่องจากเป็นพืชที่ชอบอากาศอบอุ่น มีแสงแดดเพียงพอ และใช้ระยะเวลาปลูกค่อนข้างสั้นเมื่อเปรียบเทียบกับผลไม้ชนิดอื่น คือประมาณ 60-85 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่เลือกปลูก)
นอกจากนี้ จุดเด่นของเมล่อนเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย เกษตรกรบางพื้นที่เลือกปลูกเป็นพืชทดแทนช่วงฤดูแล้ง เช่นเดียวกับ คุณมะลิ ไผ่แสวง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่ม
ผู้ปลูกเมล่อน ต.โพธิ์ตรุ อ.เมือง จ.ลพบุรี เกษตรกรหญิงแกร่งที่หันมาปลูกเมเล่อนควบคู่กับการทำนา แต่สามารถสร้างรายได้มากกว่าทำนาหลายเท่าตัว
คุณมะลิ เผยว่า ตนเองนั้นปลูกเมล่อนแบบนอกโรงเรือน ปีละประมาณ 2-3 รอบ โดยแต่ละรอบจะใช้พื้นที่เพียง 3-4 ไร่ แต่สามารถสร้างกำไรได้ไม่ต่ำกว่า 50,000-100,000 บาท เลยทีเดียว โดยเมล่อนที่ตลาดต้องการนั้นจะมีขนาดผลประมาณ 1.5-2.5 กิโลกรัม และมีค่าความหวานได้ตั้งแต่ 14-16 บริกซ์ (ค่าบริกซ์ คือ หน่วยวัดความหวานชนิดหนึ่ง) เรื่องความหวานนั้นสำคัญมากสำหรับเมล่อน เพราะเวลาขายจะมีผู้รับซื้อสุ่มวัดค่าความหวานทุกครั้ง หากไม่ถึงเกณฑ์จะขายไม่ได้ทันที
เคล็ดลับ “ความหวาน” ของเมล่อนนั้นมีปัจจัยมาจากอะไรบ้าง? เราจะพาไปการเรียนรู้เทคนิคการบำรุง-ดูแลแบบมืออาชีพ ที่ช่วยให้เมล่อนของคุณมะลิได้ผลใหญ่ รสชาติหวานชัวร์!
ปลูกเมล่อน “นอกโรงเรือน” ต้นทุนต่ำ ใช้น้ำน้อย สร้างรายได้ทดแทนการทำนา
คุณมะลิ เล่าถึงจุดเริ่มต้นการปลูกเมล่อนว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตนเองเป็นเกษตรกรทำนา แต่บางปีนั้นพบปัญหาขาดแคลนน้ำ จึงไปรับจ้างปลูกเมล่อนแทน เมื่อสั่งสมประสบการณ์ได้สักระยะจึงเริ่มเห็นโอกาสว่าเมล่อนนั้นเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย เจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิด และที่สำคัญคือราคาสูง จึงมีความคิดที่จะลงมือปลูกเมล่อนเป็นของตัวเอง โดยเมล่อนที่คุณมะลิเลือกปลูกนั้นเป็นพันธุ์ผิวลายตาข่าย (Net Melon) เนื้อในสีเขียว ผลขนาดประมาณ 1.5-2.5 กิโลกรัม มีระยะเก็บเกี่ยว 60-65 วัน ซึ่งถือว่าสั้นกว่าการทำนามาก
เมล่อนผิวลายตาข่าย อายุใกล้เก็บเกี่ยว ซึ่งเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวลาย
ทั้งนี้ การปลูกเมล่อนไม่ได้ปลูกได้เฉพาะ “ในโรงเรือน” เท่านั้น แต่สามารถปลูก “นอกโรงเรือน” ได้เช่นกัน ซึ่งการปลูกทั้ง 2 รูปแบบก็มีข้อดี-ข้อเสียต่างกัน ดังนี้
- การปลูกในโรงเรือน มีข้อดี คือ ลดความเสี่ยงจากโรคพืชและศัตรูพืช สามารถปลูกได้ทุกฤดู แต่ข้อเสีย คือ ต้นทุนสูง ต้องช่วยผสมเกสร และปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ยาก เนื่องจากเป็นโครงสร้างถาวร
- การปลูกนอกโรงเรือน มีข้อดี คือ ต้นทุนต่ำ มีผึ้งช่วยผสมเกสรตามธรรมชาติ และสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้ง่าย แต่ก็มีข้อเสีย คือ ต้องคอยใส่ใจเรื่องโรคพืชและศัตรูพืชเป็นพิเศษ และมีข้อจำกัดในการปลูกช่วงฤดูฝน เนื่องจากเป็นช่วงที่มีปริมาณความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูง ทำให้พืชเป็นโรคง่าย คุณมะลิ จึงเลือกปรับพื้นที่เป็นการทำนาในฤดูฝนแทนการปลูกเมล่อน
การปลูกเมล่อนนอกโรงเรือนทำให้ต้นสามารถรับแสงแดดได้อย่างทั่วถึง
ซึ่งแสงแดดนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการสังเคราะห์แสง ช่วยสร้างความหวานให้กับเมล่อน
ออกแบบแปลงดี ช่วยให้การจัดการง่าย ทุ่นแรงได้เยอะ!
ก่อนปลูกนั้นต้องทราบก่อนว่า “เมล่อนเป็นพืชที่ต้องการน้ำสม่ำเสมอ แต่ไม่ชอบความชื้นแฉะ” ดังนั้น เกษตรกรควรให้ความสำคัญตั้งแต่การเตรียมแปลงให้เหมาะสม เพราะจะทำให้เมล่อนไม่เป็นโรคง่าย และสามารถเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์
ขั้นตอนแรก คุณมะลิจะตากดินไว้ประมาณ 7-10 วัน แล้วไถกลับหน้าดิน 1 รอบ จากนั้นจะปรับปรุงดินด้วยสารชีวภัณฑ์ “ไตรโคเดอร์มา” ช่วยป้องกันโรคทางดินที่เกี่ยวกับเชื้อรา
ขั้นตอนถัดไปจะขึ้นแปลง โดยเว้นระยะห่างระหว่างร่อง 1.5 เมตร ระยะหน้ากว้างแปลง 1 เมตร และระยะปลูกประมาณ 50 ซม. ซึ่งการใช้ระยะแปลงที่กว้าง จะทำให้แสงแดดส่องแปลงได้อย่างทั่วถึง ไม่ทำให้แปลงชื้น ช่วยลดโรคพืชได้อีกทางหนึ่งด้วย
การปลูกนั้นจะปลูกเป็นแถวคู่ โดยใช้ระยะห่างระหว่างร่อง 1.5 เมตร
ระยะหน้ากว้างแปลง 1 เมตร และระยะปลูกประมาณ 50 ซม.
คุณมะลิ เผยว่า “เกษตรกรบางรายจะใช้ระยะห่างระหว่างร่องแค่ประมาณ 70 ซม. เพื่อให้ได้ปริมาณต้นที่มาก แต่พี่เลือกใช้ระยะที่กว้างกว่าเพื่อให้สามารถจัดการแปลงได้สะดวกค่ะ ทั้งการเดินผูกยอด-แต่งแขนง การใช้รถแทรกเตอร์ในการเก็บผลผลิต ก็ช่วยให้ประหยัดแรงงานได้มาก ทั้งแปลงนี่พี่ก็ทำกับน้องสาว 2 คน ไม่ได้จ้างใครเลยค่ะ”
หลังจากยกแปลงเสร็จเรียบร้อย จะวางสายน้ำหยดตามความยาวแปลงปลูก แล้วคลุมด้วยพลาสติกคลุมแปลง เพื่อเตรียมพร้อมที่จะลงต้นกล้า โดยต้นกล้าเมล่อนนั้นจะใช้ระยะเวลาเพาะประมาณ 7-10 วัน จากนั้นเมื่อย้ายกล้าเรียบร้อยแล้ว จะปักเสาค้างความสูงประมาณ 1.5-2 เมตร ด้วยระยะห่างประมาณ 1 เมตร
การใช้ระยะห่างระหว่างแปลงที่กว้าง ช่วยให้การจัดการในแปลงสะดวกขึ้น
และให้แสงแดดส่องแปลงได้อย่างทั่วถึง
แต่งแขนง-ไว้ลูกในข้อที่เหมาะสม เพื่อให้ต้นโตเร็ว เร่งความหวานผลได้ไว
“ความหวาน” ของเมล่อนนั้นมีปัจจัยหลักมาจาก “การดูแลจัดการต้น” และ “การบำรุง” เพื่อให้ต้นสมบูรณ์ เตรียมพร้อมสร้างความหวานได้เต็มประสิทธิภาพ
โดยช่วงแรกหลังย้ายกล้าประมาณ 15 วัน จะต้องเริ่ม “ตัดแต่งแขนง” ตั้งแต่ข้อที่ 1 - 8 ทิ้งทั้งหมด เพื่อให้ธาตุอาหารถูกลำเลียงไปเลี้ยงลำต้นแม่เพียงอย่างเดียว ไม่ถูกแขนงอื่นๆ แย่งอาหาร จะทำให้ต้นเมล่อนเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น และเตรียมพร้อมสำหรับการไว้ลูกในข้อที่ 9, 10 และ 11
“การไว้ลูกเมล่อน พี่จะเลือกไว้ข้อที่ 9, 10 และ 11 เพราะจะทำให้ได้ผลขนาดใหญ่และมีรสชาติหวานได้เร็วขึ้น โดยการไว้ลูกข้อยิ่งสูง จะทำให้เมล่อนสร้างความหวานได้ช้า แต่หากช่วงไหนที่ผึ้งในธรรมชาติน้อย ทำให้การผสมเกสรเกิดขึ้นช้า จนดอกข้อที่เหมาะสมเริ่มโรยหมดแล้ว เมล่อนก็จะไปติดผลในข้อที่สูงขึ้น เช่น ข้อที่ 12, 13, หรือ 14 แทน เราก็อาจจะต้องยืดระยะเวลาเก็บเกี่ยวให้นานขึ้น เพื่อรอให้เมล่อนมีความหวานเพียงพอค่ะ” คุณมะลิ เผยเคล็ดลับการไว้ลูกเมล่อนให้ฟัง
เลือกไว้ลูกข้อที่ 9, 10 และ 11 เพราะจะทำให้ได้ผลขนาดใหญ่และมีรสชาติหวานได้เร็วขึ้น
หลังย้ายกล้าประมาณ 25 วัน เมล่อนจะเริ่มติดผลขนาดประมาณเท่าไข่ไก่ จะต้องเริ่ม “แขวนลูกเมล่อน” โดยจะต้องแขวนให้เสร็จก่อนเมล่อนอายุประมาณ 40 วัน หากช้ากว่านั้นจะทำให้ผลสัมผัสพื้นจนทำให้ผิวบริเวณนด้าน และผลเบี้ยวได้
การแขวนลูกเมล่อน จะช่วยให้ผลไม่สัมผัสพื้น ได้ทรงกลมสวย
บำรุงพืชตามช่วงการเจริญเติบโต เคล็ดลับง่ายๆ ช่วยให้เมล่อนลูกใหญ่ รสหวานชัวร์!
“เมล่อน” เป็นผลไม้ที่มีเนื้อสัมผัสหวาน กรอบ โดยความหวานที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 14-16 บริกซ์ แต่หากเมล่อนมีรสชาติจืด จะทำให้ผลผลิตไม่ตรงตามความต้องการ
ของตลาด และขายไม่ได้ราคา ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากการดูแลเมล่อนที่ไม่ตรงตามระยะการเจริญเติบโต
คุณมะลิ เผยว่า เกษตรกรบางรายนั้นเข้าใจว่า การบำรุงเมล่อนให้หวาน คือการใส่ปุ๋ยสูตรตัวท้ายสูง (ธาตุโพแทสเซียมสูง) ในช่วงใกล้เก็บเกี่ยว หรือที่เกษตรกรเรียกกันว่า
“ช่วงทำความหวาน” แต่ความจริงแล้วการบำรุงช่วงนี้ เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการสร้างความหวานเท่านั้น เพราะหัวใจของการปลูกเมล่อนให้หวานต้องเริ่มตั้งแต่การสร้างความสมบูรณ์ให้กับต้น
โดยคุณมะลิ จะเริ่มบำรุงต้นเมล่อนตั้งแต่ขณะต้นยังเล็ก และปรับเปลี่ยนการบำรุงตามระยะการเจริญเติบโตของพืช ดังนี้
- ระยะบำรุงต้น (หลังย้ายกล้า 3 วัน) จะบำรุงด้วยปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 16-16-16 บลู ผ่านทางสายน้ำหยด ครั้งละประมาณ 8 กก. ต่อน้ำ 200 ลิตร ความถี่ 4-5 วัน/ครั้ง
เรื่อยไปจนถึงเมล่อนอายุได้ 40 วัน ซึ่งอัตราส่วนนี้จะใช้สำหรับต้นเมล่อนประมาณ 2,000 ต้น (หรือต่อพื้นที่ 1 ไร่) โดยการบำรุงในช่วงนี้ จะเน้นให้เมล่อนต้นเล็กมีความแข็งแรง มีรากฝอยมาก ช่วยให้พืชหาอาหารได้ดี ทำให้ต้นเจริญเติบโตไว และเดินยอดได้ดี
- ระยะบำรุงผล (อายุ 41-50 วัน) จะบำรุงด้วยปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 15-9-20 ผ่านทางสายน้ำหยด ครั้งละประมาณ 8 กก. ต่อน้ำ 200 ลิตร ความถี่ 4-5 วัน/ครั้ง เรื่อยไปจนถึงเมล่อนอายุได้ 50 วัน ซึ่งอัตราส่วนนี้จะใช้สำหรับต้นเมล่อน 2,000 ต้น (หรือต่อพื้นที่ 1 ไร่) โดยการบำรุงในช่วงนี้จะช่วยสร้างเนื้อเยื่อให้ผลอ่อนเมล่อน ขยายผลให้เนื้อหนา ผลใหญ่
น้ำหนักดี และยังช่วยบำรุงให้ต้นเมล่อนแข็งแรง ใบหนา สีเขียวเข้ม ไม่โทรมขณะเลี้ยงผล
คุณมะลิเน้นว่า จุดเริ่มต้นของการทำหวานเริ่มจาก “การสะสมอาหารที่ใบ” หากต้นเมล่อนมีใบ-ต้นที่เขียวสมบูรณ์ และได้รับแสงแดดทั่วถึงเพียงพอ ก็จะทำให้กระบวนการสังเคราะห์แสงมีประสิทธิภาพ ซึ่งใบนั้นเปรียบเสมือนโรงครัวที่ช่วยปรุงอาหารให้กับพืช ถ้าการปรุงอาหารดีก็จะทำให้พืชเคลื่อนย้ายธาตุอาหารไปบำรุงผลได้ดีด้วยเช่นกัน
- ระยะบำรุงผล-เพิ่มความหวาน (อายุ 50 วันขึ้นไป) จะบำรุงด้วยปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 0-0-60 ผ่านทางสายน้ำหยด ครั้งละประมาณ 6 กก. ต่อน้ำ 200 ลิตร ความถี่
3 วัน/ครั้ง เรื่อยไปจนถึงเมล่อนอายุได้ 60-65 วัน ซึ่งอัตราส่วนนี้จะใช้สำหรับต้นเมล่อนประมาณ 2,000 ต้น (หรือต่อพื้นที่ 1 ไร่) ช่วยเพิ่มความหวานให้กับเมล่อน และมีการเข้าสีที่สวยน่าทานยิ่งขึ้น โดยก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 2 วัน คุณมะลิจะงดให้น้ำเมล่อน เพื่อช่วยเพิ่มความหวานอีกทางหนึ่งด้วย
สำหรับผลผลิตที่แปลงของคุณมะลิ นั้นถือว่ามีคุณภาพเป็นที่น่าพอใจมาก เพราะได้เมล่อนผลใหญ่ไซส์เกรดเอ น้ำหนัก 1.5-2 กก.ขึ้นไป มากกว่า 70% และแม้จะใช้พื้นที่ปลูกเพียง 3-4 ไร่ ทั้งยังใช้ระยะแปลงปลูกที่กว้างทำให้จำนวนต้นน้อย แต่กลับได้ผลผลิต 4-5 ตัน ส่วนความหวานนั้นก็ได้มาตรฐาน 14-16 บริกซ์ ทำให้เมล่อนของคุณมะลินั้นขายได้แบบยกแปลงมาโดยตลอด
ทั้งนี้ คุณมะลิเผยว่า ตัวช่วยสำคัญนั้นมาจาก ปุ๋ยตราระต่าย สูตร 16-16-16 บลู และปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 15-9-20 ที่มีทั้งธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริมอย่าง
“แคลเซียม-โบรอน” ซึ่งจำเป็นสำหรับเมล่อนมาก เพราะว่ามีส่วนช่วยให้ใบและต้นพืชแข็งแรง ลดปัญหาต้นและผลปริแตก ลดการหลุดร่วงของขั้วดอกและผล และช่วยเพิ่มขนาดของผลให้ใหญ่และหวานมากขึ้น
“วิธีการบำรุงเมล่อนทั้งหมดนี้พี่ก็ใช้มาต่อเนื่องนานหลายปีแล้วนะคะ “ปุ๋ยตรากระต่าย” นี่พี่ก็คุ้นเคยมานาน เพราะตอนที่ทำนาก็ใช้อยู่เหมือนกัน พอได้มาปลูกเมล่อนแล้วเห็นกระสอบปุ๋ยตราระต่าย สูตร 16-16-16 บลู และปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 15-9-20 มีรูปผลไม้อยู่ข้างกระสอบ พี่ก็เลยลองใช้ดู เพราะคิดว่าน่าจะเหมาะกับเมล่อน ก็ปรากฏว่าได้ผลลัพธ์ดีมาก แล้วที่สำคัญคือปุ๋ยทั้ง 2 สูตรนั้นละลายดี ให้ผ่านระบบน้ำหยดแล้วไม่เหลือกาก สายน้ำหยดไม่มีตันเลยค่ะ” คุณมะลิเล่าถึงความประทับใจในปุ๋ยตรากระต่าย
ปุ๋ยตราระต่าย สูตร 16-16-16 บลู และปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 15-9-20 ละลายดี ให้ผ่านระบบน้ำหยด
ได้โดยไม่เหลือกาก ตัวช่วยสำคัญของคุณมะลิ ที่ทำให้เมล่อนผลใหญ่ รสหวาน เป็นที่ต้องการของตลาด
ผลผลิตมีคุณภาพ-สร้างการรวมกลุ่ม ช่วยยกระดับการตลาด
ข้อได้เปรียบเมล่อนคือเป็นผลไม้ที่มีความต้องการทางตลาดสม่ำเสมอ และส่วนใหญ่จะเน้นจำหน่ายในตลาดของผู้ที่มีกำลังซื้อ จึงทำให้มีราคาที่ค่อนข้างสูง และไม่ค่อยผันผวน โดยคุณมะลิ เผยว่าตั้งแต่ปลูกเมล่อนมากว่า 10 ปี ยังไม่เคยพบปัญหาราคาตก หรือว่าผลผลิตล้นตลาดเลย
สำหรับเมล่อนที่จำหน่ายในท้องตลาดนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 เกรด คือ
- เกรดเอ น้ำหนัก 1.5 – 2.5 กิโลกรัม ราคาประมาณ 30-35 บาท/กิโลกรัม
- เกรดบี น้ำหนัก 1 – 1.4 กิโลกรัม ราคาประมาณ 20-25 บาท/กิโลกรัม
- เกรดซี น้ำหนัก 8-9 ขีด ราคาประมาณ 10 บาท/กิโลกรัม
คุณมะลิ เน้นว่า หากเกษตรกรทำผลผลิตให้ได้ความหวาน 14-16 บริกซ์ ก็มั่นใจได้เลยว่าขายได้อย่างแน่นอน เพราะแม้แต่ผลที่ตกไซส์หรือเป็นตำหนิ แต่ถ้าความหวานถึงเกณฑ์ก็จะมีผู้รับซื้อในตลาดที่แตกต่างกันไป เช่น นำไปแปรรูปทำน้ำผลไม้ หรือผลไม้ตัดแต่งพร้อมทาน เป็นต้น
เมล่อนที่ตลาดต้องการต้องมีความหวาน 14-16 บริกซ์ ซึ่งก่อนขายจะมีผู้ซื้อมาสุ่มวัดความหวานก่อน
สำหรับผลผลิตของคุณมะลินั้น จะมีผู้มารับซื้อที่แปลงเพื่อรับไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง โดยจะขายในรูปแบบของ “การประกันราคา” ผ่าน “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกเมล่อน ต.โพธิ์ตรุ” ที่ตัวคุณมะลิเองเป็นทั้งประธานและผู้ก่อตั้งกลุ่มตามคำแนะนำของเกษตรตำบล เพื่อให้เกิดอำนาจการต่อรองกับผู้รับซื้อ
“เมื่อก่อนผลผลิตพี่ปลูกเองขายเอง...ก็ขายได้นะคะ แต่ว่าจะช้าหน่อย เพราะทยอยขายครั้งละไม่มาก แต่พอมีการรวมกลุ่มก็มีหน่วยงานรัฐมาช่วยในการติดต่อประสานหาแหล่งจำหน่าย และการทำระบบประกันราคาก็ทำให้การตลาดนั้นง่ายขึ้นและไม่ถูกเอาเปรียบ ตอนนี้พี่ก็ได้ยื่นเรื่องขอใบรับรองแหล่งผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย (GAP) เพื่อให้ผลผลิตของเราได้มาตรฐาน สามารถส่งขึ้นห้างสรรพสินค้าได้ในอนาคตค่ะ” คุณมะลิ เล่าถึงแผนขยายช่องทางการตลาดให้ฟัง
ผลผลิตมีคุณภาพเตรียมพร้อมขยายตลาดในอนาคต
ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีของการปลูกเมล่อน สิ่งที่คุณมะลิ มุ่งมั่นมาตลอดคือการยกระดับคุณภาพผลผลิตให้ดียิ่งขึ้น แม้ว่าจะมีความท้าทายในแง่ของสภาพภูมิอากาศ เพราะว่าเป็นการปลูกแบบนอกโรงเรือน แต่ด้วยความใส่ใจในการจัดการแปลง และการเรียนรู้เรื่องการบำรุงพืชอย่างเหมาะสม ครบถ้วนตามช่วงระยะการเจริญเติบโต ก็ช่วยให้ได้เมล่อนที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด สามารถสร้างได้ให้ครอบครัวอย่างมั่นคง แถมความสำเร็จนั้นยังจุดประกายเกษตรกรในพื้นที่ให้หันมาปลูกเมล่อน จนช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมากขึ้นเช่นกัน
ติดตามข่าวสารอื่นๆ ข้อมูลสินค้า และข่าวสารจากปุ๋ยตรากระต่าย เพิ่มเติมได้ที่
Facebook: www.facebook.com/puitrakratai/
YouTube: www.youtube.com/c/Puitrakratai
TikTok: https://www.tiktok.com/@puitrakratai
ข้อมูลสินค้าปุ๋ยตรากระต่าย: https://www.chiataigroup.com/business/fertilizer/Puitrakratai-Fruits-Vegetables